TCP Spirit ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ชวนอาสาผนึกชุมชน เรียนรู้จัดการขยะ เก็บกลับ เพื่อสร้างประโยชน์ใหม่

3 พฤศจิกายน 2565
การพัฒนาที่ยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจ TCP ชวนอาสาสมัคร TCP Spirit  ลงใต้ ทำภารกิจปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ “แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ชูแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)” มุ่งสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิด “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ตั้งเป้าหมายระยะยาว 3 ปี สร้างต้นแบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังการบริโภค

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “TCP Spirit ในปีนี้เราได้ขยับมาสู่การทำกิจกรรมด้านการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี  เราจึงเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน TCP Spirit เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยสร้างโมเดลการจัดเก็บกลับบรรจุภัณฑ์และจัดการขยะ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับแนวปฏิบัติการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ที่เราได้ทำงานร่วมกับ IUCN ทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าที่จะจัดเก็บขยะอย่างน้อย 730 ตัน รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบความรับผิดชอบในการจัดการขยะของกลุ่มธุรกิจ TCP ภายในระยะเวลา 3 ปี”

TCP Spirit “คณะเศษสร้าง” แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ

TCP Spirit ปีนี้ปักหมุดที่จังหวัดระนอง ประตูสู่ภาคใต้ความงดงามของชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเครือข่ายพัฒนาโครงการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการปัญหาขยะ ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับ IUCN  สำหรับครั้งนี้อาสาสมัครรุ่นใหม่และคนในชุมชนกว่า 200 คน จะได้เรียนรู้ปัญหาและผลกระทบจากขยะที่บ้านหาดทรายดำ จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวบ้านในชุมชนจึงมีรายได้หลักจากการทำประมงพื้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมีปัญหาปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะที่กำลังเริ่มสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่มากขึ้น

วิชารักษ์โลกที่อาสาสมัครจะได้เรียน​

  • วิชาธรรมชาติบำบัด: เรียนรู้ปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำที่รถเข้าไม่ถึง ระหว่างทางไปชุมชน จะได้ล่องเรือสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติและป่าชายเลนอายุกว่า 200 ปีที่อุดมสมบูรณ์และผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย​
  • วิชารู้จักเขา เข้าใจเรา: ได้เข้าใจบริบทของชุมชนบ้านหาดทรายดำ ข้อจำกัด และความท้าทายของการจัดการขยะ ​
  • วิชาลงทุนลงแรง: ได้เรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคผ่านการสำรวจ และอาสาเก็บขยะบริเวณชุมชนบ้านหาดทรายดำ ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านและเรียนรู้แบบอินไซท์ถึงความซับซ้อนของปัญหาขยะที่เกี่ยวโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการของภาครัฐ ความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • วิชาเศษสร้าง 101: เรียนรู้การคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ทำให้ “เศษขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีคนต้องการได้ พร้อมนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ออกแบบการคัดแยกขยะในแบบฉบับของตนเอง​
  • วิชาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นวงกลม: เรียนรู้วิธีเปลี่ยน “ขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีมูลค่า และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการวนกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตได้ หรือต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นงานฝีมือที่หลากหลาย
  • วิชาบัญชีธรรมชาติกับภาษีที่มองไม่เห็น: เรียนรู้ผลกระทบของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปัญหาขยะทะเล และต้นทุนจากการจัดการขยะที่มองไม่เห็น ทั้งต้นทุนธรรมชาติและต้นทุนการจัดการ​
  • วิชาปันผลความรู้และความรัก: ส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการจัดการขยะให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านทุ่งหงาว
  • วิทยานิพนธ์: ตกตะกอนความคิดและต่อยอดความสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งหมด กลั่นออกมาเป็นวิทยานิพนธ์ตามแนวทางของ “คณะเศษสร้าง” คือ จัดการ “เศษ” เพื่อ “สร้าง” ประโยชน์

กิจกรรมตลอด 3 วันจะทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ลงมือเก็บขยะร่วมกับชาวบ้าน เข้าใจเรื่องการจัดการขยะในมิติต่างๆ เห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญและ

เริ่มลงมือแยกขยะ เพราะ “ขยะ” จะกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” ไม่ได้เลย หากไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผลที่ได้นี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ข่าวอื่นๆ