TCP Spirit และ The Cloud จัดกิจกรรมพาคนเมืองออกไปเรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองกับกลุ่ม BIG Trees

Harmony
3 สิงหาคม 2561
TCP Spirit

ในกิจกรรม ‘TCP Spirit ครั้งที่ 1 หมอต้นไม้ สวนลุมพินี’ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา พาเหล่าอาสาพิทักษ์ต้นไม้จำนวนกว่า 160 คน ร่วมกิจกรรมเข้าฐานสุดสนุก เริ่มตั้งแต่เรียนรู้วิธีเพาะกล้า ทำความเข้าใจระบบนิเวศ ตัดแต่งกิ่งไม้อย่างถูกวิธี และทดลองปีนป่ายบนต้นไม้ใหญ่กลางสวนลุมพินี สำหรับใครที่พลาดไปนั้นไม่ต้องเสียใจ TCP Spirit  ได้รวบรวมเอาเกร็ดความรู้และวิธีดูแลต้นไม้ใหญ่มาฝากกัน  

1. ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยการสังเกต ‘เรือนยอด ลำต้น และราก’ 

การรู้จักวิธีสังเกตเรือนยอด ลำต้น และราก รวมถึงการรู้จักพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย จะช่วยให้เราสามารถตรวจสุขภาพต้นไม้ได้และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ได้ในอนาคต

  • เรือนยอด (ส่วนที่นับรวมทั้งกิ่ง ก้านและใบ) : ควรสังเกตความสมดุลของต้นไม้ ดูว่าสีของใบผิดปกติหรือไม่ ความหนาแน่นของกิ่ง ความโปร่งของใบ รวมถึงต้องสังเกตรอยแผลที่เกิดจากการตัด ถ้าตัดกิ่งดี ไม่มีแผลฉีกขาดจจะไม่ทำให้ต้นไม้เกิดโรค 
  • ลำต้น : ควรสังเกตความผิดสีของเปลือกไม้ มีรอยปริแตกหรือเป็นโพรงบริเวณลำต้นหรือไม่ และหากลำต้นมีความเอนเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไปอาจจะหักโค่นลงมาได้
  • ราก : ควรสังเกตว่ารากมีลักษณะแบบใด รากขด รากงัดลอย มักเกิดบริเวณริมน้ำหรือริมตลิ่ง รากที่ถูกตัดหรือมีรอยแผลจะทำให้เกิดโรคกับต้นไม้ได้ และไม่ควรคอนกรีตปิดทับการหายใจของรากหรือไม่ 

หากสังเกตแล้วมีการประเมินผลอยู่ในระดับสูงควรปรึกษาหรือรับคำแนะนำจากรุกขกรเพื่อลดความเสี่ยง และรักษาสุขภาพต้นไม้ให้แข็งแรงและอยู่กับเราไปนานๆ

2. ชวนดูความแตกต่างของ ‘กิ่งแห้ง’ กับ ‘กิ่งผลัดใบ’ 

การสังเกตกิ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงอันตรายและสุขภาพของต้นไม้ แต่บางครั้งอาจเกิดความสับสนระหว่างกิ่งแห้งกับกิ่งผลัดใบ

  • กิ่งแห้งคือกิ่งไม้ที่ตายแล้ว สามารถหักและผุพังลงมาได้ แต่กิ่งผลัดใบยังมีชีวิตอยู่ จะไม่มีการผุพัง อีกสักพักก็จะผลิใบออกมา กิ่งแห้งจะเปราะกว่ากิ่งผลัดใบ หรืออาจะมีร่องรอยของเห็ด ใบเริ่มเป็นสีน้ำตาล หากมีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ที่ปลูกก็จะทราบได้ทันทีว่ากิ่งลักษณะนี้อยู่ในช่วงผลัดใบมากกว่าเป็นกิ่งแห้ง

3. ความเข้าใจผิดเรื่องดินถุง ‘ซื้อมาแล้วปลูกได้เลย’

เรามักเข้าใจว่าดินถุงตามท้องตลาดสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เลย หากปลูกไปได้สักระยะ เราจะสังเกตเห็นว่าดินเหลือน้อย ต้นไม้กองอยู่ก้นกระถาง เป็นเพราะการย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุ (กิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบก้ามปู ขุยมะพร้าว ฯลฯ) ที่ผสมมามีมากกว่าจำนวนดิน ฉะนั้นเราควรนำดินถุงมาปรุงใหม่อีกครั้งเพื่อให้ประสิทธิภาพของดินดีกว่าเดิม 

  • การปรุงดินอย่างง่ายเหมาะสำหรับกล้าทั่วไป เพียงนำดินขุยไม้ไผ่ 4 กระถาง ผสมกับกากมะพร้าวสับ 2 กระถาง ขุยมะพร้าวละเอียด 2 กระถาง แกลบขาว 1 กระถาง และปุ๋ยคอกมูลวัว 1 กระถาง คลุกเคล้าให้เข้ากัน 

ส่วนผสมทุกชนิดล้วนมีประโยชน์ต่างกัน อย่างดินขุยไม้ไผ่จะมีลักษณะร่วน เมื่อโดนน้ำจะจับตัวกันแน่นคล้ายดินเหนียว กากมะพร้าวสับจะทำให้ดินมีช่องอากาศมากขึ้น รากเดินสะดวก ขุยมะพร้าวละเอียดมีความสามารถควมคุบการระเหยของความชื้นในดินได้ อุ้มน้ำได้อย่างยอดเยี่ยม 

ข้อควรระวังของการใส่ปุ๋ยคอก ควรเลือกปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ให้เหมาะสมกับขนาดของต้นไม้ เพื่อลดอาการช็อกของกล้าหรือต้นไม้ที่กำลังจะปลูก

4. ตัดบัวอย่าเหลือใย แต่ตัดต้นไม้ต้องเหลือทั้งใบและยอด

ใบเป็นสิ่งที่ต้นไม้ห่วงแหน เพราะเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างคลอโรฟิลล์ซึ่งมีส่วนสร้างและหมุนเวียนพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต

  • เราคงเคยเห็นภาพต้นไม้ตามสองข้างทางที่ถูกตัด บั่นยอดเหมือนเอาไม้บรรทัดวัด จนเหลือเพียงลำต้น ใบหายไปหมด รุขกรแนะนำหลักในการตัดต้นไม้ที่ถูกต้องควรนำใบออกจากต้นไม่เกิน 25% เพื่อป้องกันอาการช็อกของต้นไม้  หากตัดจนใบหายไปหมดแล้วไม่มีใบใหม่แตกออกมาจะทำให้ต้นไม้ต้นนั้นยืนต้นตายในที่สุด 

5. รุกขกรคือช่างตัดผมประจำตัวของต้นไม้ใหญ่

รุกขกร นอกจากจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงของต้นไม้ ยังสามารถตัดแต่งต้นไม้เพื่อความสวยงามตามรูปร่างจากธรรมชาติได้อีกด้วย

  • เส้นสายลายสีของต้นไม้เป็นศิลปะที่เติบโตจากธรรมชาติ ก่อนจะตัดแต่งทรงให้สมดุล สวยงาม รุกขกรจะดูรูปทรงของต้นไม้ อย่างต้นจามจุรีภายในสวมลุม จะมีลักษณะคล้ายก้านร่ม ลำต้นเห็นเส้นสายชัดเจน ไม่มีกิ่งก้านขวางสายตา เรือนยอดด้านบนแผ่กว้างเป็นร่ม และต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์ก่อนตัดแต่งด้วย

6. สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติกับต้นไม้ใหญ่

  • ใช้เชือกไนลอนมัดรอบลำต้น – เมื่อตัดกิ่งที่มีปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงออกไปแล้ว แต่เผลอไปมัดเชือกรอบลำต้นโดยไม่ได้นำออก เชือกที่รัดโดนกิ่งที่เนื้อไม้กำลังเริ่มห่อหุ้ม เป็นผลให้เนื้อไม้บริเวณนั้นกินเชือกเข้าไปด้วย     
  • เทคอนกรีตปิดโคนต้นไม้ใหญ่เพื่อความสวยงาม – รากต้องการน้ำและอากาศ การเทคอนกรีตปิดโคนทำให้กระบวนการหายใจของรากแย่ลงส่งผลให้ต้นไม้อ่อนแอ และเกิดปัญหากับคนที่ในที่สุด ทางแก้คือเปลี่ยนมาใช้วัสดุโปร่ง ไม่ปิดทึบ เพื่อให้น้ำและอากาศถ่ายเทสะดวก ต้องปูเว้นห่างจากระยะโคนต้นเพื่อให้ต้นไม้หายใจเป็นระยะอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความกว้างของทรงพุ่ม

7. ทำไมลูกไม้ถึงต้องหล่นไกลต้น 

เรามักคุ้นชินกับสุภาษิต ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ กลับกันในทางธรรมชาติ ถ้าลูกไม้หล่นไกลต้นมากเท่าไร ยิ่งส่งผลดีกับต้นไม้มากขึ้นเท่านั้น

  • จากกิจกรรมนักสืบธรรมชาติทำให้เรารู้ว่า ‘ลูกไม้หล่นไกลต้น’ ไม่ได้หมายความว่า ผลร่วงหล่นแล้วกลิ้งห่างไปไกลจากต้น แต่เป็นเพราะสัตว์หลากชนิดในธรรมชาติ อย่างนกเงือก ชะนี ฯลฯ เป็นตัวช่วยกระจายเมล็ดให้ห่างไกลจากต้นเดิม ผ่านการกิน การขับถ่าย จากงานวิจัยระบุว่า เมล็ดของพืชบางชนิดมีเปลือกแข็ง แต่เมื่อผ่านระบบย่อยอาหารของนกเงือก ทำให้เปลือกหลุดออก เมื่อไรที่นกเงือกขับถ่ายออกมา เมล็ดพืชชนิดนั้นก็จะเจริญงอกงามได้ดียิ่งขึ้น 

อัลบั้มรูป

โครงการอื่นๆ