เมื่อ “เศษขยะ” สร้าง “เศรษฐกิจ” TCP Spirit “คณะเศษสร้าง” แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ

Harmony
9 ธันวาคม 2565
TCP Spirit

เป็นไปได้ไหม ที่ขยะที่เราทิ้งที่บ้าน จะลอยไปไกลถึงทะเลอันดามัน?

อาจจะเป็นไปได้ยาก...แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้

“ขยะเมื่อเราทิ้งแล้ว ดูเหมือนมันจะไม่ใช่เรื่องของเรา มันห่างไกลจากตัวเรา แต่สุดท้ายมันจะกลับมากระทบตัวเรา เพราะทะเลเป็นจุดต่ำสุดของโลก แม้จะเป็นขยะจากภูเขาสูง ท้ายที่สุดมันจะไหลลงทะเล” ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ครูใหญ่ของคณะเศษสร้าง พูดคุยกับคณะอาสาสมัครก่อนเริ่มต้นการเรียนรู้ พร้อมยังอธิบายว่าแต่ละปีประเทศไทยผลิตขยะกว่า 27 ล้านตัน และยังติดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกไหลลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องขยะในทะเล อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป

         กลุ่มธุรกิจ TCP พาอาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 50 คน ไปร่วมเรียนรู้การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในกิจกรรม TCP Spirit “คณะเศษสร้าง” แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 27-29 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้วิชาสำคัญ 5 บทเรียนก่อนนำไปสู่การร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“เราไม่ปฏิเสธว่าบรรจุภัณฑ์นั้นทำให้เกิดขยะ เรามีเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีที่บรรจุภัณฑ์ของเราจะต้องรีไซเคิลได้ 100% ในภาคของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน วันนี้เราจึงอยากชวนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ จากชุมชน ว่าการจัดการขยะให้กลับคืนสู่ระบบทำอย่างไร และเราจะได้เห็นภาพการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้การจัดการขยะมันเกิดขึ้นได้จริง” คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และยังมีเป้าหมายระยะยาวขององค์กรในการจัดเก็บขยะอย่างน้อย 730 ตัน เพื่อเป็นบริษัทต้นแบบของการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังบริโภคอีกด้วย

 

คณะเศษสร้างเดินทางมาถึงท่าเรือต้นสน ตั้งแต่เช้า แดดยังอุ่น ๆ พวกเราออกเดินทางด้วยเรือหางยาวโดยมีวิวของป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ขนาบข้างเราไปตั้งแต่เริ่มเดินทางจนเรือเข้าเทียบท่าของชุมชนบ้านหาดทรายดำ ชุมชนชาวประมงแห่งนี้จะเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยชีวิตจริงให้เราได้เรียนรู้ปัญหาขยะร่วมกัน

 บทเรียนที่ 1 รู้จักเขาเข้าใจเรา

หมู่บ้านหาดทรายดำเป็นชุมชนชาวเลอาศัยอยู่ประมาณ 100 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง โอบล้อมไปด้วยทะเลและป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์จนได้รับการยกย่องเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลจากยูเนสโก ชาวบ้านใช้ชีวิตแนบชิดอยู่กับทะเล ใช้ไม้โกงกางมาทำพื้นและมุงหลังคา บ้านแทบทุกหลังยกใต้ถุนสูงเผื่อพื้นที่ให้กับระดับน้ำขึ้นน้ำลง มีถนนเป็นสะพานปูนเตี้ย ๆ เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมบ้านทุกหลังเข้าด้วยกัน ในแต่ละวันชาวบ้านจะออกเรือไปจับสัตว์น้ำมาขายเป็นรายได้หลักในการหล่อเลี้ยงชีวิต

“ชาวบ้านบางคนคิดว่ากุ้งหอยปูปลามันไม่มีเพราะเราจับไปหมด แต่ไม่ใช่ครับ เพราะน้ำมันเสีย ไม่มีอาหารให้มัน เราต้องสร้างอาหารให้สัตว์น้ำด้วยการทำน้ำให้สะอาด ตอนนี้เรากลัวว่าวันหนึ่งเราจะกลับไปจุดเดิม ที่ที่เราไม่มีข้าวกิน พวกเราเคยอดเคยลำบาก ก็เลยคุยกันว่าหลังจากนี้เราจะไม่กลับไปที่เดิมอีก” โกบูลย์ หรือไพบูลย์ สวาทนันท์ ผู้นำชุมชนบ้านหาดทรายดำเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นแก้ไขปัญหาขยะ เพราะสมัยก่อนหมู่บ้านเคยเจอปัญหาการประมงทำลายล้างจากคนภายนอกจนทรัพยากรทะเลแทบไม่เหลือ แต่ตอนนี้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงเพราะปัญหาขยะ

ปัจจุบันมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือ IUCN เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังมีวิสาหกิจชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดระนอง หรือระนอง รีไซเคิล ที่เข้ามารับไม้ต่อช่วงสุดท้ายในการรับขยะที่ชุมชนคัดแยกกลับไปรีไซเคิลและดูแลเรื่องการขนส่งขยะลงเรือออกจากเกาะอีกด้วย ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยพาชุมชนบ้านหาดทรายดำเดินเข้าสู่เส้นชัยที่หวังไว้ได้

 

บทเรียนที่ 2 ลงทุนลงแรง

ไม่นานหลังจากที่เรามาถึงชุมชนหาดทรายดำ อาสาสมัครแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ไปใน 3 เส้นทางรอบเกาะ โดยมีเด็ก ๆ ในชุมชนอีกกว่า 40 คน ร่วมเก็บไปกับเราด้วย โดยมีภารกิจรวบรวมขยะมาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาคัดแยกหามูลค่าจากขยะ อาสาบางคนง่วนกับการดึงขยะออกจากซอกหิน  บางคนลงไปเก็บขยะบนพื้นทราย  ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ขยะกว่า 20 กระสอบก็ถูกขนมาที่จุดคักแยก

“ระหว่างที่เราเก็บขยะอยู่เป็นช่วงที่น้ำกำลังขึ้นพอดี น้ำก็พัดขยะเข้ามา เราก็ช่วยกันตักขยะออก แปปเดียวที่จุดเดียวกันน้ำก็พัดขยะเข้ามาอีก” อาสาท่านหนึ่งเล่าถึงปัญหาที่พบเจอ นอกจากที่เกิดจากชุมชนเองแล้วยังมีขยะที่พัดเข้ามาจากทะเล ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทำให้การจัดการขยะในบนเกาะเป็นไปได้ยากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

บทเรียนที่ 3 วิชาเศษสร้าง 101

คุณนิรัติศัย พรภูติ หรือพี่ชาย จากระนอง รีไซเคิล ช่วยอธิบายถึงขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เหล่าอาสาสมัครร่วมกันคัดแยกอย่างถูกต้องตรงตามความต้องการของคนรับซื้อปลายทาง ขยะเหล่านี้จะได้นำไปรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้ง

เราแยกขยะออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป ซึ่งขยะรีไซเคิลยังสามารถแยกย่อยได้อีกถึง 9 ชนิด ได้แก่ ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก ขวด PET แบบใส ขวด PET มีสีสกรีน ขวด PET สีพลาสติกขุ่น  ฝาขวดน้ำ และชิ้นพลาสติกขุ่นทึบแสง ส่วนขยะทั่วไปอย่างซองขนม ถุงพลาสติก แก้ว ขยะที่เลอะ ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะถูกทิ้งรวมกัน

“ทราบไหมคะว่าทำไมผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลส่วนใหญ่แก้วใบนี้ จึงไม่รับซื้อและไม่สามารถนำแก้วใบนี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ทั้งที่เป็นพลาสติกประเภท PET?” พี่เปิ้ล สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย IUCN ชวนเราคิดและตั้งคำถามกับแก้วพลาสติกเลอะ ๆ ใบหนึ่งจากกองวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้

ตามทฤษฎีแล้วพลาสติก PET เป็นพลาสติกชนิดที่สามารถรีไซเคิลได้ก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วภาชนะบรรจุอาหารพลาสติกประเภทนี้ มักจะมีเศษอาหารหรือมีสิ่งสกปรกอื่น ๆ ปนเปื้อนอยู่ การนำพลาสติกที่ถูกปนเปื้อน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะต้องนำไปล้างทำความสะอาดก่อน จึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และไม่คุ้มค่าที่จะนำไปรีไซเคิล หรือพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อมนาน ๆ เจอน้ำ เจอแดด อย่างขยะกลางทะเลเหล่านี้ก็จะเสื่อมสภาพจนแห้งกรอบ มีความเสี่ยงที่จะแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก นอกจากไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้แล้ว ยังกลายเป็นพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบอย่างอื่นตามมาอีกด้วย

หัวใจสำคัญในการจัดการขยะคือการคัดแยกก่อนทิ้ง เราจะเห็นที่หน้าบ้านทุกหลังในชุมชนบ้านหาดทรายดำจะมีถังขยะประดิษฐ์จากอุปกรณ์ประมงที่ไม่ใช้แล้ว หรือภาชนะอื่น ๆ ที่สามารถจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลได้ หาได้ในท้องถิ่นมาตั้งไว้เพื่อใช้สำหรับการคัดแยกขยะในครัวเรือน เมื่อได้จำนวนมากพอ ก็ส่งขายต่อให้ผู้รับซื้อวัสดุในท้องถิ่น นำเข้าสู่กระบวนการต่อไป

อาสาสมัครและเด็ก ๆ ช่วยกันขนขยะที่คัดแยกแล้วไปที่เรือเพื่อเตรียมส่งขึ้นฝั่งที่ท่าเรือต้นสน บนฝั่งมีรถขยะจากหน่วยงานรัฐรอรับอยู่ ท่ามกลางฝนระนองที่โปรยลงมาต้อนรับบาง ๆ

“ตอนที่ผมขนขยะขึ้นเรือ มีน้องนักเรียน 4-5 คน ตามหลังผมมา เขาก็พูดขึ้นมาว่า โอ้ ตรงนั้นขยะเยอะมากเลย ผมเลยรู้สึกว่าทั้งวันที่เราทำกิจกรรมมาไม่ใช่แค่เราเก็บขยะได้ 20 กว่ากิโลฯ แล้วเรากลับไป แต่มันทำให้เด็ก ๆ ที่นั่นเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่บ้านของเขา” หนึ่งในอาสาสมัครบอกกับเรา

 

บทเรียนที่ 4 วิชาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นวงกลม

กว่า 2 ชั่วโมงกับอาสาเกือบ 100 คนซึ่งรวมเด็ก ๆ ในชุมชนที่มาร่วมด้วย ขยะเกือบ 20 กระสอบใหญ่ วัสดุรีไซเคิลที่แยกออกมาพวกเราขายได้ราคา 237 บาท ส่วนขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบต่อไป

“237 บาทอาจจะเป็นเงินที่ฟังดูแล้วไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเราปล่อยขยะทั้ง 20 กระสอบนั้นอยู่ที่เดิม ท้ายที่สุดมันก็จะทำให้น้ำเสีย ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก กระทบต่อสัตว์น้ำซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประมงพื้นบ้าน รายได้ของชาวบ้านก็จะหายไป วิถีชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไป วันนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 237 บาทในวันนี้อย่างมาก” นี่คือมุมที่โกบูลย์ผู้นำชุมชนใช้สื่อสารกับชาวบ้านให้หันมาเห็นความสำคัญของปัญหาขยะ

 

บทเรียนที่ 5 วิชาปันผลความรู้และความรัก

ฉลามวาฬกินพลาสติก

               เช้าตรู่ ท้องฟ้ายังไม่ตื่นดี หมอกเย็นสีขาวแต้มยอดภูเขาที่เห็นเป็นฉากอยู่ไกล ๆ เหล่านักศึกษาคณะเศษสร้างทั้ง 50 คน ออกเดินทางด้วยรถโพถ้องสีแดง (รถสองแถวท้องถิ่นของระนอง)  มุ่งหน้าไปทำกิจกรรมกับน้อง ๆ นักเรียนที่โรงเรียนบ้านทุ่งหงาว เพื่อไปร่วมแบ่งปันความรู้ในการคัดแยกขยะที่ถูกต้องให้กับเด็ก ๆ ห้องเรียนแบ่งปันในวันนี้นำทีมโดยอาจารย์ต้อม อาจารย์ใหญ่คณะเศษสร้าง พี่เปิ้ล อาจารย์พิเศษจาก IUCN รุ่นพี่สุดหล่อ อเล็กซ์ เรนเดลล์ และพี่ ๆ อาสาสมัครช่วยกันสร้างฉลามวาฬจากท่อ PVC และอวน วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มอบให้น้อง ๆ ใช้เป็นถังขยะแยกขวดพลาสติก โดยหวังให้เจ้าฉลามวาฬจำลองนี้กินขยะพลาสติกแทนสัตว์น้อยใหญ่ในทะเล

มูลค่าที่ชั่ง ตวง วัด ไม่ได้

การคัดแยกขยะไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่วันนี้เราอาจะได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากการจัดการขยะที่คิดถึงตั้งแต่ต้นทางกระทั่งถึงปลายทาง  ทำอย่างไรเพื่อให้การจัดการขยะอย่างยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นได้จริง คงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ความรู้และแรงบันดาลใจจะช่วยผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี มาช่วยกันส่งต่อพลังให้แก่กัน พลังที่ดีกว่า เพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป

เมื่อขยะหลุดจากมือเราไป ปลายทางมันจะไปอยู่ที่ไหน อย่าลืมตั้งคำถามต่อกันในเรื่องนี้

 

โครงการอื่นๆ