ถอดบทเรียนวิถีไร้ขยะ ไขความลับธรรมชาติที่ดอยตุง

Harmony
27 ตุลาคม 2566
TCP Spirit

“เรายังมีความหวังไหม? – เป็นคำถามที่ผมในฐานะคนทำงานอนุรักษ์มาตลอด 25 ปีเจอบ่อยมาก” ดร. เพชร มโนปวิตร ครูใหญ่ของคณะกล่าวระหว่างพิธีเปิดการศึกษาของคณะเศษสร้าง ปีที่ 2 เราจะร่วมกันค้นหาคำตอบ ของคำถามนี้ตลอด 2 วันของการเข้าร่วมกิจกรรม

เช้าบนดอยอากาศเย็นสบาย มีหมอกลอยอ้อยอิ่งมาต้อนรับอาสาสมัครกว่า 60 ชีวิตจากทั่วประเทศที่มาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พาอาสาไปร่วมเรียนรู้การจัดการขยะอย่างครบวงจร ที่อาสาจะได้เห็นภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระดับหน่วยงาน ชุมชน รวมไปถึงวัฏจักรหมุนเวียนในธรรมชาติ ด้วยกิจกรรม ‘TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปีที่ 2 แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ’ พาทุกคนไปแอ่วโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 6 -8 ตุลาคมที่ผ่านมา

“สาเหตุที่มาที่ดอยตุงวันนี้ เพราะว่าโครงการพัฒนาดอยตุงมีเรื่องน่าประทับใจหลายเรื่อง ในอดีตดอยตุงเป็นเขาหัวโล้น ปลูกฝิ่นกันทั้งภูเขา แต่ปัจจุบันเป็นสีเขียวอย่างที่เราเห็น ฝีมือใครครับ? เป็นฝีมือมนุษย์ที่ฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาได้ และที่มันเสียหายก็ฝีมือมนุษย์ โลกก็เช่นกัน…ทุกวันนี้โลกกำลังร้องบอกเราว่าโลกป่วย เพราะฉะนั้น มนุษย์อย่างพวกเราทุกคนก็ต้องมีส่วนช่วยให้เขากลับมาสวยงามแข็งแรงเหมือนเดิม” คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ ไฮ่! X DHC และซันสแนค กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อความเปลี่ยนแปลง

“มีคนบอกว่าโลกที่ยั่งยืนมีอยู่แล้ว ให้เราลองมองเข้าไปในธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติไม่เคยมีของเสียเกิดขึ้นเลย มีการหมุนเวียนแร่ธาตุ พลังงาน ส่งต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์มาก นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ผมคิดว่า คือการพัฒนาที่ยั่งยืนและอยากให้มนุษย์ทำให้ได้ว่าจะทำยังไงให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีค่ามากที่สุด” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการและนักอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ชี้ชวนให้เราดูกลไกที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ และให้เราเตรียมเปิดใจสำหรับกิจกรรมตลอดทั้งวัน

เช้านี้รุ่นพี่อย่างอเล็กซ์ เรนเดลล์ ชวนอาสามาอุ่นเครื่องด้วยการเต้นและร้องเพลงขับกล่อมไปกับเสียงกีต้าร์ของเจสซี่ เมฆ เมฆวัฒนา ช่วยปลุกพลังอาสาให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ผ่านการลงมือกับ 5 รายวิชารักษ์โลกฉบับดอยตุง

 

วิชาที่ 1 กายวิภาคของ “เศษ”

เราเริ่มต้นกันที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่นอกจากจะเป็นแหล่งรวมขยะของโรงงานและสำนักงานแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และคัดแยกที่สำคัญที่ทำให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ (Zero waste to landfill) อีกด้วย

พี่อ้น ไพศาล คำกาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดแยกขยะเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจแรกเริ่มในการจัดการขยะของมูลนิธิฯ ซึ่งเริ่มต้นจัดการขยะมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากเล็งเห็นปัญหาขยะล้นบ่อของเทศบาลห้วยไคร้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และได้ลงมือจัดการขยะแบบลองผิดลองถูกถึง 5 ปี กว่าจะไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ วันนี้อาสาทุกคนจึงได้มาเรียนรู้สูตรสำเร็จจากประสบการณ์ของมูลนิธิฯ

“ไม่ว่าพนักงานระดับไหนก็ต้องลองแยกขยะหมด ผู้บริหารของเราก็ลงมาแยกขยะด้วยตัวเองเหมือนกัน” พี่อ้นเล่าถึงหัวใจสำคัญของการคัดแยกที่เริ่มต้นที่นโยบายและระดับผู้บริหาร รวมถึงการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับให้แยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งขยะจะถูกคัดแยกที่ต้นทางเป็น 6 ชนิด (ได้แก่ ขยะขายได้ ขยะเปื้อน ขยะพลังงาน ขยะย่อยสลายได้ ขยะห้องน้ำ และขยะอันตราย) และจะถูกส่งมาคัดแยกต่อที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้มากถึง 44 ชนิด

และแน่นอนว่าอาสาที่มาในวันนี้ก็ต้องร่วมลงมือคัดแยกด้วย...สวมถุงมือ ผ้ากันเปื้อนให้พร้อม แล้วลุยกันเลย!

ถุงดำปริศนาเป็นภารกิจที่อาสาจะต้องแยก เหล่าอาสากว่า 60 คนก้มๆ เงยๆ เดินเวียนหาถังขยะกว่า 40 ถังรอบตัว นอกจากความยากของจำนวนชนิดแล้ว ความหลากหลายของขยะก็ท้าทายไม่แพ้กัน

“อันนี้ทิ้งที่ไหนคะ?” ถูกตะโกนถามเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำที่ถูกยัดด้วยเศษอาหารและถุงพลาสติก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่หมดอายุแล้ว วัสดุแต่ละชิ้นจะค่อยๆ ถูกคัดแยกออกมาเป็นประเภทที่ถูกต้อง ส่วนขยะเปื้อนที่รีไซเคิลได้จะแยกไว้ต่างหากเพื่อที่จะล้างและนำไปขายต่อ กระดาษที่เปียกก็จะถูกแยกออกจากกระดาษปกติเพื่อที่จะนำไปตากให้แห้งก่อนนำไปรีไซเคิล

นอกจากจะคัดแยกขยะในส่วนของโรงงานผลิตและสำนักงานแล้ว มูลนิธิฯ ยังขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบเพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด พี่อ้นเล่าให้เราฟังว่าแม้จะทำในองค์กรได้สำเร็จแต่ระดับชุมชนท้าทายกว่ามาก

“การแยกขยะที่ว่ายากแล้ว ชุมชนที่นี่ท้าทายกว่าถึงสองเท่า เพราะที่ดอยตุงมีทั้งคนสูงอายุ คนตาบอดสี บางคนก็อ่านไม่ออก ทำป้ายอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้วิธีการเอาของจริงไปให้เขาดู แล้วค่อยๆ สอน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะร่วมกันทำนะครับ เราต้องตอบเขาให้ได้ก่อนว่า แยกไปทำไม แยกแล้วเขาได้อะไร? ในเรื่องบางเรื่องเรามองเป็นปัญหา แต่ชาวบ้านไม่เห็น อย่างขยะตกค้างในธรรมชาติ เรามองว่าเป็นปัญหา แต่ชาวบ้านอาจจะบอกว่าก็ปกตินี่ ทิ้งกันแบบนี้มานานแล้ว เราต้องทำให้เขาเห็นปัญหาให้ได้ก่อน”

 

วิชาที่ 2 สร้างโอกาสปลุกปัญญา

ขยะที่ถูกคัดแยกมาอย่างดีได้กลายเป็นวัสดุชั้นยอดที่อาสาจะได้นำไปแปรรูป ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และช่วยกันเนรมิตขยะต่างๆ ให้เป็นของใช้ โดยอาสาถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มพลาสติก กลุ่มปุ๋ยมูลไส้เดือน และกลุ่มวิบวับ

กลุ่มพลาสติก: ฝาขวดน้ำหลากหลายสีถูกแยกและนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ อาสาได้ลงมือผสมสีและนำพลาสติกไปหลอมเพื่อขึ้นรูปใหม่ บรรจงหมุนพลาสติกเหลวที่ไหลมาเป็นสายใส่แม่พิมพ์ให้กลายเป็นกระถางต้นไม้ หรือจะช่วยกันออกแรงกดๆๆ พลาสติกเหลวใส่แม่พิมพ์ให้กลายเป็นพวงกุญแจสารพัดประโยชน์ก็ได้

กลุ่มทำปุ๋ยมูลไส้เดือน: ขยะเศษอาหารถูกนำมาผสมกับมูลวัวเป็นอาหารและบ้านให้ไส้เดือน เมื่อไส้เดือนย่อยและถ่ายออกมาจะได้เป็นปุ๋ยบำรุงดินชั้นดี เหล่าอาสาช่วยกันคัดแยกตัวไส้เดือนตัวน้อยออกจากกองดิน บางคนช่วยแพ็คมูลไส้เดือนใส่ถุงเพื่อพร้อมจำหน่าย

กลุ่มวิบวับ: ซองขนมสีเงินวิบวับหรือซองลามิเนตเป็นวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ถูกนำมาบดย่อยเป็นชิ้นละเอียด อาสาช่วยกันชั่งน้ำหนักและตักเศษวิบวับใส่ถุงร้อน จากนั้นก็พับให้ได้ขนาดก่อนนำไปเข้าเครื่องอัดความร้อน กลายเป็นแผ่นรองกระถางต้นไม้ หรือจะตัดเป็นสิ่งของตกแต่งก็แล้วแต่จินตนาการ

 

วิชาที่ 3 สร้างคุณค่าให้กับ “ขยะ” กลายเป็น “เศษวัสดุ”

เศษวัสดุหลายอย่างแม้จะไม่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้โดยตรง แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์ทางอ้อมได้ อย่างเช่น เปลือกกะลาแมคคาเดเมีย เปลือกหัวหอม หรือเศษดินก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้ กิจกรรมถัดมาอาสาได้ใช้จินตนาการ ผูกปมมัดถุงผ้า เพื่อที่จะนำไปย้อมกับสีย้อมธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะได้จากของเหลือใช้แล้ว ยังได้สีจากพืชสมุนไพรท้องถิ่นด้วย เช่น ครั่ง คราม หรือแก่นขนุน หลังจากที่ผูกปมแล้วก็นำไปจุ่มสีไว้ประมาณ 15 - 20 นาที ก่อนที่จะนำไปล้างน้ำสะอาด และตากให้แห้ง ก็จะได้ถุงผ้าใบสวยที่ไม่เหมือนใคร

บ่ายแก่ๆ เราเดินทางไปยังเส้นทางแสวงบุญ ถนนสายเล็กๆ ที่ชาวบ้านใช้ในการเดินทางขึ้นลงพระธาตุดอยตุง แต่ถนนบางส่วนเป็นหลุมเป็นบ่อเนื่องจากน้ำกัดเซาะ วัชพืชขึ้นรกจนทำให้แทบมองไม่เห็นหลุมที่ซ่อนอยู่ เราเลยชวนอาสามาซ่อมถนนให้ชุมชน แต่เพื่อลดวัสดุอย่างปูน พี่ๆ ที่ดอยตุงเลือกใช้โมลเซรามิกหรือแม่พิมพ์เซรามิกเก่ามาทุบให้เล็กลง และใส่ลงไปรองก้นหลุมก่อน แล้วจึงเทปูนที่ผสมด้วยเปลือกแมคคาเดเมียเหลือทิ้งลงไปอีกที นอกจากจะเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาทดแทนวัสดุใหม่ ยังช่วยประหยัดค่าหิน และการขนส่งขยะไปทิ้งอีกด้วย

อาสากลุ่มแรกพร้อมสำหรับเคลียร์หลุมให้สะอาด บางคนถือค้อนทุบโมลเซรามิกอย่างแข็งขัน สาวๆ บางคนก็ลงมือผสมปูนครั้งแรกในชีวิต หลายแรงช่วยกันแบกปูนไปเทในแต่ละหลุมให้เต็ม อาสาที่เหลือช่วยกันเก็บงานโดยใช้เกียงฉาบปูนปาดให้เรียบเพื่อความปลอดภัย ถนนชำรุดระยะทางกว่า 500 เมตรเสร็จในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าพี่ๆ ทำกันเองต้องใช้เป็นเดือนแน่ๆ เลย

วิชาที่ 4 ปลูกคนปลูกป่า วิถีวงกลม

เช้าวันรุ่งขึ้นหมอกยังคงจัด แต่โชคดีว่าฝนที่เหมือนจะตั้งเค้ามาแต่เช้าหยุด ให้เราได้มีโอกาสเดินป่ากันอย่างไม่ร้อนเกินไปนัก วันนี้เราจะไปดู “ตาน้ำ” แหล่งกำเนิดของต้นน้ำและลำธารต่างๆ ทางเดินแคบๆ บังคับให้เราต้องเดินเรียงแถวทีละคน ลำธารสายเล็กตัดผ่านตลอดเส้นทางทำให้เราต้องระมัดระวังและช่วยพากันข้ามไปไม่ให้เปียก พี่ๆ ชวนให้รู้จักใบแหย่งที่ชาวบ้านเอามาห่อข้าวแบบไร้พลาสติก ผึ้งโพรงนักผสมเกสร และเรื่องราวธรรมชาติอีกมากมาย

เดินมาสักพักเราก็ได้เห็นตาน้ำ จุดที่น้ำเย็นๆ ไหลออกมาไม่ขาดสาย เพราะต้นไม้โอบอุ้มน้ำไว้แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมา จึงเป็นที่มาของป่าต้นน้ำนั้นเอง

ระหว่างทางเราได้เห็นทั้งพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกชา ปลูกอโวคาโด และป่าอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ พี่พิม อรัญญา อภิเสถียรพงศ์ นักจัดการองค์ความรู้และออกแบบการเรียนรู้ของมูลนิธิฯ เล่าให้เราฟังว่าความสำเร็จของการอนุรักษ์ป่าที่ดอยตุง คือการจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องมาบุกรุกพื้นที่เพิ่ม พร้อมกับส่งเสริมอาชีพให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับหลักการทำงานที่ว่า “ปลูกป่าปลูกคน”

 

 วิชาที่ 5 ดวงดาวในจักรวาล

วิชานี้เรานั่งเรียนกันกลางป่า ภายใต้ร่มไม้สองข้างทางและมีเสียงน้ำตกเป็นฉากหลัง ระหว่างพักให้หายเหนื่อยก็ได้เรียนวิชาที่สำคัญที่สุดของวันนี้ หลังจากที่วันแรกเราได้เรียนรู้เรื่องราวของวัฏจักรเชิงกายภาพ (Technical Cycle) ของสิ่งของต่างๆ ที่สามารถวนนำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว วันนี้เราได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพ (Biological Cycle) การหมุนวนของทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อสองวงมารวมกันจึงทำให้เราเข้าใจภาพใหญ่ที่ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนก็ซ่อนอยู่ในธรรมชาตินี่แหละ

ดร. เพชร ยังเน้นย้ำถึง 3 หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ Eliminate (การกำจัดหรือการลดการเกิดของเสียแต่ต้นทาง), Circulate (การนำของเสียที่เกิดขึ้นแล้วกลับไปใช้ใหม่), Regenerate (การฟื้นฟูทรัพยากรที่เราใช้ให้ดีขึ้น เช่น ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ฟื้นฟูผืนดิน เป็นต้น)

ด้วย 3 หลักการข้างต้นนี้ ครูใหญ่ยังชี้ให้เราเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจหลากหลายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้เช่าสินค้าแทนการซื้อใหม่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถซ่อมแซมได้ง่าย ธุรกิจที่รวมคนเดินทางทางเดียวกันไปด้วยกัน และความน่าจะเป็นอีกหลากหลาย เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการรีไซเคิลเท่านั้น

หลังจากจบวิชา เราก็ล้อมวงกินข้าวกันกลางป่า มื้อเที่ยงนี้เรามีข้าวเหนียว น้ำพริก และหมูทอดที่ห่อมาในใบแหย่ง มือจกข้าวเหนียว จิ้มน้ำพริก เคล้ากับบทสนทนาของเส้นทางที่ผ่านมา แม้อาหารจะแสนธรรมดา แต่มื้อนี้กลายเป็นอีกมื้อที่แสนพิเศษ

 

วิทยานิพนธ์

จากการทำกิจกรรมตลอดทริป เราก็ได้ใช้เวลาตกตะกอนความคิดและระดมสมองกับเพื่อนในกลุ่ม ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้และสิ่งที่จะนำกลับไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ครูและอาจารย์ที่บังเอิญอยู่กลุ่มเดียวกันวางแผนจะนำเรื่องสิ่งแวดล้อมไปบูรณาการในทุกวิชาเรียน กลุ่มที่ทำธุรกิจสัญญาว่าจะพัฒนาการคัดแยกขยะให้ดีขึ้น คนที่สนใจด้านอาหารเองก็เล็งเห็นว่าอาหารจะปลอดภัยไม่ได้เลยถ้าธรรมชาติของเราไม่ปลอดภัยด้วย และที่สำคัญทุกคนมีพลังที่พร้อมจะส่งต่อให้คนอื่นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

และถึงเวลาที่เราจะมาตอบคำถามว่า “เรายังมีความหวังอยู่ไหม?”

“ผมมีคำกล่าวของนักอนุรักษ์คนหนึ่งที่ผมชอบมาก เขาบอกว่า เราไม่ต้องสงสัยเลยเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้นโดยคนแค่ไม่กี่คนที่มุ่งมั่นทำไปโดยไม่ละความพยายาม มันจะเป็นไปได้ ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่ใหญ่ๆ ของมนุษยชาติ การเลิกทาส สิทธิสตรี ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งนั้น ที่มองว่ามันต้องเปลี่ยน ไม่ต้องสงสัยแล้วครับ ถ้าเรามุ่งหน้าทำไป การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ครูใหญ่ทิ้งท้าย

โครงการอื่นๆ